มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) เป็นแนวคิดการจัดการมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาแนวทางใหม่จากความล้มเหลวของรูปแบบมหาวิทยาลัยดั้งเดิมที่บริหารจัดการโดยพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นหลัก สู่รูปแบบที่มหาวิทยาลัยสามารถสร้างรายได้และส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ โดยการดำเนินพันธกิจด้านการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับการวิจัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจและสังคม โดยผลลัพธ์ที่เกิดจากการบูรณาการพันธกิจมหาวิทยาลัยภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ของมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ คือ การสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมใหม่ การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาครัฐ การพัฒนากระบวนการและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นไปเพื่อช่วยให้เกิดการมุ่งสู่การตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals: SDGs ข้อที่ 9 ในเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรม ธุรกิจวิจัยนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย (university spin-offs) และเพิ่มรายได้วิจัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คุณลักษณะร่วมในการขับเคลื่อนให้การพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการประสบความสำเร็จประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเป็นผู้นำและผู้กำกับ ด้านการเป็นนักการศึกษา ด้านการเป็นนวัตกร ด้านการเป็นนักเชื่อมโยง และด้านการเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง อันจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและผู้ประกอบการ (Innovation and Entrepreneurship Ecosystem) เพื่อขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยไทย อันจะช่วยตอบโจทย์ SDGs ข้อที่ 4.4 ในการมุ่งสู่การมีงานที่ดีและการเป็นผู้ประกอบการภายในปี 2573
หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ
คณะผู้วิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง : http://www.journal.unisearch.chula.ac.th/th/issue-reader/81