เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Developed in conjunction with Joomla extensions.

ในรั้ว Unisearch

การประชุมหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2567 ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยในการต้อนรับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มอบหมายให้ นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ นำทีมคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย นายสำอาง แก้วประดับ ผู้ตรวจการประจำภาค นายเมธัสสิทธิ์ ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการกองกลาง นายภูผา บัวบุญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ และผู้แทนเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร. พรมณี ขำเลิศ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ/ผู้ช่วยประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมหารือถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารวิจัยจุฬาฯ โดยมี ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการฯ รองศาสตราจารย์ ดร. ดำรงค์ วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการฯ รองศาสตราจารย์ ดร. จิรารัตน์ อนันตกูล ผู้อำนวยการแพลตฟอร์มอาหารและการเกษตรเพื่ออนาคต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐ พิชญางกูร อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ ลิ่มสกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์บริการวิชาการฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. วินัย แก้วละมุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร เข้าร่วมการประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย


การนี้ ผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของภาคการเกษตรในประเทศไทย ทั้งในด้านปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย และโอกาสในการพัฒนาภาคการเกษตรไทย รวมถึง หารือเกี่ยวกับการวางทิศทางการทำงานร่วมกันเพื่อที่จะสามารถเสริมสร้างเกษตรกรไทยให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยอาศัยข้อมูลผลงานการศึกษาวิจัย ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากทั้งสองหน่วยงานมาร่วมกันวางกรอบนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงบูรณาการภาคการเกษตรของไทยไปสู่เป้าหมายความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงต่อไป ซึ่งข้อหารือดังกล่าวมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเกษตร รวมถึง การส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต โดยเฉพาะข้อคิดเห็นที่ว่า “การพัฒนาบุคลากรภาคการเกษตรทุกระดับ” ถือเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญเพื่อให้บุคลากรภาคการเกษตรมีการศึกษาที่เหมาะสม สามารถสร้างและรักษาองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นของตนเองได้ รวมถึง มีความสามารถในการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกเข้ากับความรู้ ทักษะใหม่ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้ง สร้างความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ เหล่านั้นสู่ผู้ที่สนใจหรือคนรุ่นต่อไปในสังคมและชุมชนของตนเองได้ ซึ่งหนึ่งปัญหาที่สำคัญของภาคการเกษตรคือ การขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร เนื่องจากการย้ายถิ่นของคนรุ่นใหม่ไปยังเมืองใหญ่ รวมถึง การขาดการสนับสนุนด้านการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ทำให้แรงงานในภาคการเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเดิมที่ทำเกษตรสืบทอดเป็นมรดกมาจากบรรพบุรุษ ซึ่ง ณ ขณะนี้แรงงานเหล่านั้นถือว่า เป็นแรงงานที่กำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางที่เริ่มมีข้อจำกัดทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น หากสามารถปรับปรุงเกี่ยวกับการสนับสนุนทางด้านการศึกษาของภาคการเกษตร ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะของเกษตรกรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พวกเขามีความพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการพัฒนาการเกษตรของตนเอง การสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างสังคมทางการเกษตรที่จะก่อให้เกิดการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นแรงงานรุ่นต่อไปในภาคการเกษตร การส่งเสริมองค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกร อาทิ การส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการสร้างแบรนด์สินค้าการเกษตรไทย เช่น การสร้างผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ การทำผลไม้แปรรูป เป็นต้น อันจะสอดรับต่อเป้าหมายของประเทศในการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย


ด้วยการเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมไทยที่มีบทบาทในการสร้างรายได้และความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ ดังนั้น การประชุมระหว่างสำนักงานสภาเกษตรแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริการวิชาการฯ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้อันจะนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การประชุมครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการรวมพลังของทางภาครัฐซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาเกษตรกรและการเกษตรของประเทศไทย ผนวกกับองค์ความรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สามารถสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่ภาคการเกษตร มารวมกันในการมุ่งมั่นที่จะใช้ข้อมูลและประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยเพื่อร่วมสร้างนโยบายและการบริหารจัดการที่สามารถต่อโจทย์ความท้าทายที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ทำให้ภาคการเกษตรต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย การนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากคณาจารย์และนักวิจัยไม่ว่าจะเป็นในเครือข่ายของแพลตฟอร์มอาหารและการเกษตรเพื่ออนาคต เครือข่ายของสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาใช้จะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการเกษตร รวมถึง การส่งเสริมการวิจัยเชิงนโยบายทางการเกษตรจะสามารถช่วยลดช่องว่างให้กับภาครัฐในการสร้างแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกมิติได้ต่อไป


สรุปได้ว่า การประชุมครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ยั่งยืนในขอบเขตและเป้าหมายที่จะร่วมสร้างประโยชน์และส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้ง จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่จะนำพาเกษตรกรไทยและครอบครัวเกษตรกรไทยไปสู่อนาคตที่มั่นคง มีกิน มีใช้ ปลอดหนี้สินทุกครัวเรือน นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคเกษตรไทยมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป


#chula #NFC #สภาเกษตรกรแห่งชาติ #สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ #แพลตฟอร์มอาหารและการเกษตรเพื่ออนาคต #FutureFoodandAgriculturePlatform #สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร #CUSAR #chulaunisearch #การเกษตร #เกษตรกรไทย #ความร่วมมือ #การพัฒนานโยบาย #นวัตกรรมการเกษตร #การบริหารจัดการ #การฝึกอบรม #ความยั่งยืน #การประเมินผล #เครือข่ายความร่วมมือ


IMAGE GALLERY


ศูนย์บริการวิชาการ
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 4 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 0-2218-2880 โทรสาร. 0-2218-2880 ต่อ 701
Email: unisearch@chula.ac.th

Search