เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Developed in conjunction with Joomla extensions.

ในรั้ว Unisearch

สัมมนาบุคลากรประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ การถ่ายทอดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ เกณฑ์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายการดำเนินงาน ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) และโครงการสัมมนาบุคลากรประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ การถ่ายทอดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ เกณฑ์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายการดำเนินงาน ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อวันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์บริการวิชาการฯ ร่วมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ศูนย์บริการวิชาการฯ วิสัยทัศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และความเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่าง ๆ ร่วมกัน โดยบุคลากรของศูนย์บริการวิชาการฯ สามารถตั้งค่าเป้าหมายของตนเอง OKRs (Objective and Key Results) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของศูนย์บริการวิชาการฯ รวมถึง สามารถถ่ายทอด OKRs ของตนเองเพื่อร่วมกันกําหนดแผนปฏิบัติการ ตัวชี้วัดผลงาน เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์องค์การไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีทัศนคติ แนวคิด ทิศทาง และแนวทางการปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน คือ การมุ่งมั่นพัฒนาองค์การให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป


โดยเมื่อวันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารของศูนย์บริการวิชาการฯ ทั้ง 4 ท่าน ได้ถ่ายทอดทฤษฎีเนื้อหาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของศูนย์บริการวิชาการฯ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) โดย ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ บรรยายเกี่ยวกับนโยบาย ทิศทาง และหัวใจของการดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการฯ รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการฯ ผ่านการระดมความคิดเห็นเป็นรายบุคคล “ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ภาพรวมกระบวนการของการดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ บริการต่อเนื่อง การตลาด)” โดยให้บุคลากรแต่ละคนเขียนบทบาท/หน้าที่/ภาระงานของตัวเองว่า อยู่ในส่วนใดของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องของภารกิจของแต่ละคนที่เป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของการดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการฯ ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ ให้ความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์การผ่านกระบวนการ “Change Management” การปรับเปลี่ยนทัศนคติและการปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมโลกปัจจุบัน สู่การปรับตัวในการทำงานภายในองค์การ สอดคล้องตามหลัก “รับรู้” ว่า....สังคมและบริบทโลกเปลี่ยนแปลงไป การ Disrupt ด้วยเทคโนโลยี “ยอมรับ” ว่า...เราจำเป็นต้องปรับตัว ปรับรูปแบบการทำงาน/การดำเนินไปขององค์การในอนาคต “มีผู้นำและบุคลากรทุกระดับในองค์การร่วมช่วยกันสร้างและพัฒนา” และ คุณโสภณ พิฆเนศวร รองกรรมการผู้อำนวยการ ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับเป้าหมายและการเพิ่มคุณค่าของศูนย์บริการวิชาการฯ เพื่อให้มุ่งไปสู่เป้าหมาย ความยั่งยืน สู่วิสัยทัศน์ในอนาคต


ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 18 – 21 มกราคม 2567 ศูนย์บริการวิชาการฯ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ผ่านโครงการสัมมนาบุคลากรประจำปี 2567 นอกสถานที่ ณ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับเกียรติจาก ดร. พรมณี ขำเลิศ ผู้จัดการหลักสูตรการบริหารยุทธศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ร่วมสนับสนุนและจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยได้จัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรแกนนำในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติตามเกณฑ์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายการดำเนินงาน OKRs ปี 2567 ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ของบุคลากร ในรูปแบบ Workshop โดยใช้เทคนิคการทำงานเป็นทีม (Teamwork) ผ่านกระบวนการกลุ่มย่อย จำนวน 3 กลุ่ม และได้มีการผลัดเปลี่ยนบทบาทระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้สามารถรับทราบถึงบทบาทและมีความเข้าใจในการเป็น “ผู้ตามที่ดี” และ “ผู้นำที่ดีกว่า” ซึ่งในการปฏิบัติงานจริงบุคลากรทุกคนจะต้องสามารถเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามในแต่ละกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย โดยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถออกแบบและค้นหาแนวทางในการปฎิบัติงานร่วมกัน ผ่านการนำยุทธศาสตร์ของศูนย์บริการวิชาการฯ สู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจและส่งเสริมการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ โดยมีการชี้แจงวัตถุประสงค์ เกณฑ์ ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมาย และการสรุปประเด็นที่สําคัญ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถซักถาม อภิปราย และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ผ่านคําถามที่กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วมในการคิดและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์บริการวิชาการฯ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมที่เอื้อต่อการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความรักสามัคคีได้เป็นอย่างดี


อนึ่ง นอกจากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) แล้ว ผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์บริการวิชาการฯ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกของบุคลากรในด้านการนำความรู้ความสามารถไปประยุกต์ใช้บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ได้เรียนรู้การเสียสละ การทำงานจิตอาสา และการให้บริการการวิชาการต่อสังคมโดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน อันนับว่าเป็นการบริการชุมชนและสังคม (University Social Responsibility: USR) ด้วยการเลี้ยงอาหารกลางวันและขนม กิจกรรมสันทนาการ เกมส์การละเล่นต่างๆ และการมอบอุปกรณ์เครื่องเขียนและกีฬา รองเท้าถุงเท้า และของขวัญให้แก่เด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านนากลาง สาขาห้วยผักกูด จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 1-3 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้ เด็กนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 12 คน และคณะครู จำนวน 15 คน ของโรงเรียนบ้านนากลาง ยังจะได้รับโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อความยั่งยืนทางทะเล เพื่อทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ทะเลไทย และทำกิจกรรมทางทะเล ณ เกาะแสมสาร รวมทั้ง เยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล และเรือหลวงจักรีนฤเบศร ณ กองทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ด้วย ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อน OKRs ปี 2567 ของศูนย์บริการวิชาการฯ ต่อไป


IMAGE GALLERY


ศูนย์บริการวิชาการ
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 4 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 0-2218-2880 โทรสาร. 0-2218-2880 ต่อ 701
Email: unisearch@chula.ac.th

Search