
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีส่งมอบ “นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace)” คุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการขาขาดทั่วประเทศไทย จำนวน 200 ราย ให้กับโรงพยาบาล ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ภายใต้โครงการของขวัญปีใหม่ 2567 จาก กระทรวง อว. ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย จาก วช. ณ อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
พิธีส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัย “การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนพิการขาขาดทั่วประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace)” พร้อมด้วยผู้แทนรับมอบนวัตกรรมเท้าเทียม ทั้ง 7 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้แก่ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลสมุทรสาคร สถาบันราชประชาสมาสัย สมุทรปราการ และ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี ขึ้นรับมอบนวัตกรรมดังกล่าว โอกาสนี้ ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติเป็นผู้แทนผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานงานโครงการ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานร่วมกับผู้บริหารจากหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้
ในการนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง อว. ในนามของรัฐบาล มอบของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมของภาครัฐในการให้โอกาสประชาชนทั้งกลุ่มที่ต้องการเป็นพิเศษและกลุ่มประชาชนทั่วไป กระทรวง อว. มุ่งเน้นผลิตกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง มีคุณภาพ น้ำหนักเบา รูปลักษณ์สวยงาม โดยเกิดจากความเก่งของคนไทยแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในประเทศไทยที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ กระทรวง อว. มีความยินดีที่จะมอบเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) ให้กับผู้ต้องการได้มีโอกาสได้ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) จะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดให้เข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่มได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ด้วยฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นองค์ความรู้ที่เสริมศักยภาพในด้านคุณภาพชีวิต โดย วช. ได้ให้การสนับสนุนแก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ และคณะวิจัยฯ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการขาขาดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าเท้าเทียมจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง เพื่อช่วยเพิ่มความสุขให้กับผู้พิการ โดยจะมีการติดตามประเมินการใช้งาน เพื่อนำข้อมูลสนับสนุนการขอเข้าระบบของ สปสช. ต่อไป
สุดท้าย รองศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ชัญญาพันธ์ วิรุฬห์ศรี ผู้ร่วมวิจัย และคณะวิจัยฯ กล่าวว่า เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 มีคุณภาพสูงได้รับการรับรองมาตรฐานสากลระบบบริหารคุณภาพการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO13485 และได้ผ่านการทดสอบความแข็งแรงตามมาตรการสากล ISO 10328 (Structural testing of lower-limb prostheses) จากประเทศเยอรมนี รวมถึงทำการทดลองทางด้านทางด้านคลินิก (Clinical trial) โดยโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) เป็นวัสดุอุปกรณ์นวัตกรรมที่มีคุณภาพ พัฒนาโดยฝีมือนักวิจัยของไทยซึ่งมุ่งหวังให้ผู้พิการที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถเข้าถึงและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้ดียิ่งขึ้น โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ นำตัวแทนผู้พิการที่ได้ทดสอบและใช้นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) ในการดำเนินชีวิตประจำวันและเล่นกีฬาฯ จริง มาสาธิตให้ผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ได้ทราบถึงคุณสมบัติและความมั่นใจในการสวมใส่ ซึ่งผู้พิการทั้ง 2 ท่าน ได้แสดงให้เห็นมีความรู้สึกมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ทั้งขณะที่เดิน วิ่ง หรือซ้อมกีฬาฯ นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) ช่วยให้พวกเขามีชีวิตประจำวันที่ความคล่องตัวขึ้นตอบโจทย์ที่ผู้พิการต้องการ
ทั้งนี้ วช. ได้กำหนดการส่งมอบนวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) ทั่วทุกภูมิภาค และจะติดตามประเมินผลการใช้งานอย่างสม่ำเสมอต่อไป เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผน และการผลักดันเข้าสู่ระบบสุขภาพ จะเห็นได้ว่าการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace) มุ่งหวังให้มีจำนวนผู้พิการสามารถที่เข้าถึงและนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมีความปลอดภัยและได้รับมาตรฐานสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของผู้พิการให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากขึ้น
IMAGE GALERY
http://www.unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/4323-67-space#sigFreeIdf9475f9140