
ก้าวสู่โลกใหม่อาหารแห่งอนาคตไปกับ Chula Future Food Platform LUNCH TALK ครั้งที่ 4 สนับสนุนโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Halal Science Center-HSC) ในการเสวนาในครั้งนี้ มาในธีม “BRAVE NEW WORLD OF HEALTHIER FUTURE WITH MEDICINAL FOOD AND NOVEL FOOD” ซึ่งพาผู้ร่วมเสวนารุกถึงข้อมูลเชิงลึกการวิจัยด้านอาหารทางการแพทย์ (Medical Food) และอาหารใหม่ (Novel Food) เพื่อรองรับอนาคตทางอาหารของโลกเช่นเคย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 ณ ห้อง 701 ชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเสวนา Chula Future Food Platform LUNCH TALK ครั้งที่ 4 นี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. ปิติ จันทร์วรโชติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์จากงานวิจัยในหัวข้อ “Cell-based Meat: A Novel Future Food - Manufacturing and Research Insights” และรองศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล ทรัพย์วโรบล อาจารย์ประจำหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากงานวิจัยผ่านหัวข้อ “Nutritional Research Opportunities: Exploring the Potential of Medical Foods in Enhancing Health and Well-being” ซึ่งทั้งสองหัวข้อเป็นความท้าทายใหม่ของวงการอาหารแห่งอนาคตสำหรับประเทศไทยในการจะก้าวเข้าสู่ตลาดโลกภายใต้เทรนด์ความยั่งยืนของโลก โดยก่อนเริ่มการเสวนา ดร.อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ หัวหน้าโครงการ Chula Future Food Platform และผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมฮาลาล ให้เกียรติกล่าวเปิดงานและได้ให้รายละเอียด Funding ที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับอนาคตอาหารแก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย
หัวข้อ “Cell-based Meat: A Novel Future Food - Manufacturing and Research Insights” โดย ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. ปิติ จันทร์วรโชติ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติบรรยายเกี่ยวกับ ‘Cell-based Meat - CBM’ เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากห้องปฎิบัติการ อาหารแห่งอนาคตแบบใหม่ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการทางอาหารโดยเฉพาะโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารหลักสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน และเพื่อสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อการบริโภคของมนุษย์ได้ การทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมนับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญของโลกในขณะนี้ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบร้อยละ 15 ของทั่วโลก มากกว่าการปล่อยก๊าซจากการขนส่งทั้งหมดรวมกันตามข้อมูลทางสถิติ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของสัตว์ การผลิตเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมจะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและฆ่าสัตว์ ซึ่งอาจทำให้สัตว์เกิดมีความทุกข์ทรมานและความเครียด อีกทั้ง ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ รวมไปถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในสัตว์ซึ่งอาจจะก่อโรคในมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์ซึ่งเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุม จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนจากเชื้อโรคเหล่านี้ รวมถึง ข้อกังวลด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการผลิตและบริโภคโปรตีนโดยคำนึงถึงการทดแทนและการสร้างความยั่งยืนต่อทรัพยากรของโลก
โดย ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. ปิติ จันทร์วรโชติ ได้กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรม ‘Cell-based Meat - CBM’ ทั่วโลกการเติบโตของสตาร์ทอัพเนื้อจากเซลล์นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ประเทศอิสราเอล ประเทศแคนาดา ประเทศเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น รัฐกาตาร์ รวมไปถึง สาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์นับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง โดยมีกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารและ/หรือแนวทางด้านความปลอดภัย ในขณะที่ประเทศไทย ‘Cell-based Meat - CBM’ ยังเป็นเรื่องของการวิจัยซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาวิจัยเนื้อจากเซลล์โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล ยังไม่มีบริษัทหรือผู้ผลิต ‘Cell-based Meat’ โดยตรง แต่มีการเตรียมจัดตั้งการผลิตเนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องทดลองในประเทศไทยโดย Aleph Farms
หัวข้อ “Nutritional Research Opportunities: Exploring the Potential of Medical Foods in Enhancing Health and Well-being” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล ทรัพย์วโรบล อาจารย์ประจำหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริม แต่เป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ผลิตโดยกรรมวิธี สูตรและส่วนประกอบจำเพาะ เพื่อใช้ตามความต้องการพิเศษอันเนื่องมาจากสภาวะทางสรีรวิทยา หรือความเจ็บป่วย หรือความผิดปกติของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น อาหารที่ใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือผู้ที่มีสภาพผิดปกติทางร่างกาย อาหารที่ใช้สำหรับบุคคลผู้มีวัตถุประสงค์ในการบริโภคอาหารเป็นพิเศษ เช่น อาหารสำหรับสตรีมีครรภ์ ผ่านการศึกษาในมนุษย์ที่มีการออกแบบที่ดี (Well-designed human intervention study) มีรูปแบบการวิจัยที่มีการออกแบบอย่างดี เหมาะสมเพียงพอต่อการพิจารณา และให้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุ รวมถึง ต้องมีงานวิจัยที่ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารที่น่าเชื่อถือฉบับเต็มอย่างน้อย 1 ฉบับ เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนเป็นอาหารทางการแพทย์จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
การศึกษาในมนุษย์ที่มีการออกแบบที่ดี (Well-designed human intervention study) เป็นการศึกษาเชิงทดลองทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized controlled trial-RCT) ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มการศึกษา (Study group) และกลุ่มควบคุม (Control group) และวางแผนการศึกษาอย่างมีระบบตามหลักการ Good Clinical Practice (GCP) โดยมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
(1) กลุ่มการศึกษาต้องเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรเป้าหมาย
(2) กลุ่มควบคุมต้องเหมาะสม
(3) ช่วงระยะเวลาที่เพียงพอของการได้รับการสัมผัสและติดตามผลว่า ให้ผลเป็นไปตามความมุ่งหมาย
(4) การแสดงพื้นฐานการบริโภคอาหารของกลุ่มการศึกษา และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องด้านอื่น ๆ
ทั้งนี้ ในเรื่องรายงานผลการประเมินอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ รองศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล ให้คำแนะนำว่า สามารถส่งประเมินกับทางศูนย์ประเมินด้านโภชนาการ และการกล่าวอ้างทางสุขภาพของผลิตภัณฑ์อาหารแห่งประเทศไทย หรือ CNACT ซึ่งให้ผลเป็นที่ยอมรับของ อย.
ในครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. สุวิมล ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยที่อาจารย์ได้ดำเนินการอยู่ เป็นอาหารสำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคไต ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยเพื่อใช้ในการขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ โดยงานวิจัยเริ่มตั้งแต่การออกแบบรูปแบบวิจัย การทดสอบทางคลินิก จนถึงการออกผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่ายตามขั้นตอนที่ทาง อย. ระบุไว้ โดยได้อธิบายถึงรายละเอียดบางขั้นตอนที่เข้าใจยาก และผู้วิจัยมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำเนินงานเกี่ยวกับ Medical Food ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าร่วมงานที่มีความสนใจในการวิจัยและพัฒนาอาหารทางการแพทย์
ทั้งนี้ ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการฯ ได้สรุปประเด็นสำคัญของงานในวันนี้ รวมทั้ง แนะนำผู้ร่วมงานที่มีความสนใจในการบุกตลาด Future Food ให้เชื่อมโยงความสนใจของตนเองเข้ากับ Chula Future Food Platform เพื่อสามารถปรึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันไปกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และคณาจารย์ของจุฬาฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้ว เพื่อร่วมสร้างอนาคตทางอาหารของประเทศสู่ตลาดโลกร่วมกันในอนาคตต่อไป
#Chula Lunch Talk
#Chula Future Food Platform Lunch Talk
#สำนักบริหารวิจัย
#ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch)
#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Halal Science Center-HSC)