เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Developed in conjunction with Joomla extensions.

รอบรั้วโครงการ

Chula Future Food Platform Lunch Talk ครั้งที่ 3 “Future Food Market Opportunities”

Chula Future Food Platform Lunch Talk เดินทางมาถึงการเสวนาในครั้งที่ 3 ด้วยความร่วมมือโดย สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Halal Science Center-HSC) ในการขับเคลื่อนการสนับสนุนโครงการวิจัยด้าน Future Food เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.30 – 13.00 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ในการเสวนาครั้งนี้ ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวถึงการสร้างเครือข่ายด้านอาหารเพื่อผลักดันและกำหนดยุทธศาสตร์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยให้ความสำคัญในเรื่องของอาหารตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงรสนิยม ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยด้านอาหาร และมีความร่วมมือกับผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายครบในทุกมิติ จึงเกิดเป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นภายใต้แพลตฟอร์มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบ (Chula Future Food Platform) เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางอาหารให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมตามความต้องการของตลาดอาหารโลก


การเสวนา Chula Future Food Platform Lunch Talk ครั้งที่ 3 “Future Food Market Opportunities” ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณเมธา จารัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอพี แวลู จำกัด ร่วมบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์ในการบุกเบิกตลาดอาหารโลกในหัวข้อบรรยายจำนวน 2 หัวข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้


หัวข้อ “นวัตกรรมอาหารอนาคต : โอกาสทางธุรกิจการค้ากับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับและโลกมุสลิม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินงานระดับนานาชาติ จากการทำงานเป็นส่วนหนึ่งขององค์การความร่วมมือระดับนานาชาติ “องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)” ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่มีสมาชิกมากเป็นอันดับที่สองรองจากสหประชาชาติ โดยมีสมาชิกรวมกว่า 1.9 พันล้านคน และการนำงานวิจัยและนวัตกรรมบุกเบิกตลาด “กลุ่มประเทศความร่วมมือรอบอ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council (GCC)” ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรดส์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการร่วมกลุ่มโดยถือความสัมพันธ์พิเศษ ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ระบบการเมืองที่คล้ายคลึงกัน ศาสนาเดียวกัน ก่อตั้งเป็นกลุ่มประเทศ GCC โดยมีจุดมุ่งหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วินัย ดะห์ลัน ได้กล่าวว่า กลุ่ม GCC คือ โลกของอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่ขยายอิทธิพลเทียบเท่ากับจีน เนื่องจากการเติบโตของประชากรมุสลิมทั่วโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตของตลาดโลกจะมีมุสลิมเป็นผู้ซื้อและขายมากที่สุดในโลก นับเฉพาะศักยภาพทางเศรษฐกิจฮาลาลที่จับต้องได้เฉพาะตลาดมุสลิม คิดเป็นร้อยละ 17 ของตลาดโลก แล้วยังมีส่วนที่จับต้องไม่ได้ในตลาดที่ไม่ใช่มุสลิมอีกร้อยละ 72 นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่หาค่าไม่ได้อีกมหาศาล เช่น ค่านิยมฮาลาล หรือภาพลักษณ์ เป็นต้น ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าบทบาทของอุตสาหกรรมฮาลาลจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย หากประเทศไทยรวมถึงประเทศที่ไม่ได้เป็นประเทศมุสลิมต้องการเข้าถึงและตีตลาด จะต้องเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าร่วมเพื่อให้มีกำลังสามารถต่อรองกับประเทศที่เป็นมุสลิมได้

ทั้งนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งส่งออกไปยังกลุ่ม GCC ทั้ง 6 ประเทศดังกล่าว ถือว่ามีมูลค่าทางตลาดที่สูง อีกทั้งยังมีการเติบโตทางตลาดฮาลาลสูงในอีกหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่เฉพาะในกลุ่ม GCC รวมถึงตลาดอาหารฮาลาลที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่นับถือมุสลิม ดังนั้น งานวิจัยและนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ฐานพืช (Plant based products) ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันการแพทย์และโภชนาการตามแนวทางศาสนา (Islamic Prophet-based functional food products) โดยเฉพาะงานพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูงสำหรับตลาดมุสลิม จะสามารถสร้างโอกาสและการเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลในอนาคตได้ รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรเพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (BCG) ด้วย


คุณเมธา จารัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอพี แวลู จำกัด ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรง มุมมอง ทิศทางในการสร้างโอกาสทางการค้าในตลาดโลก ผ่านหัวข้อ “Market Landscape for Future Food Innovation” ซึ่งระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ ในการสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างตลาดและผู้ต้องการลงทุน จะต้องเติมช่องว่างที่มีช่องว่างที่เกิดขึ้นในตลาดโดยการนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ มาตีตลาดใหม่นี้เพื่อเป็นช่องทางที่จะสามารถนำเข้าสู่ตลาดโลกได้ ซี่งปัจจุบันฐานตลาดอาหารโลก เทรนด์ที่มีการเติบโตมากที่สุด จะเกี่ยวข้องกับเรื่อง Functional food โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลเทคโลโยลีจากสิทธิบัตร เช่น Medical Food (early stage มีโอกาสพัฒนาช่วง 3 ปี) Novel Food มีการเติบโตน้อย และ Alternative Food/Super Food การที่อาหารมีหลายฟังชั่นในตัวเอง เป็นประเภทที่คนเริ่มให้ความสนใจและผู้ที่สนใจมีความเฉพาะกลุ่ม

สำหรับเทรนด์ Medical Food จะเป็นเรื่องของ เทรนด์อาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) ดังที่เราจะได้เห็นกันมากขึ้น เช่น Genomic Thailand จีโนมิกส์ประเทศไทย เป็นโครงการวิจัยด้านสุขภาพ เพื่อรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย เพื่อให้นักวิจัยใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการศึกษาวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย ทำให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัย การรักษาอย่างจำเพาะและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการประยุกต์กับ Lifestyle ของตนเองเกิดเป็น โปรแกรมเฉพาะบุคคล (Application สำหรับดูสุขภาพตัวเอง)

สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค (Organic Products) ผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีส่วนผสมจากสารเคมี ปลอดสารพิษ โดยมากจะทำจากธรรมชาติผ่านกระบวนการทางการเกษตรโดยไร้สารเคมีในการปรุงแต่ง ส่วนผสม รวมทั้งการผลิตต่างๆ ในทุกขั้นตอน เพื่อให้มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเกิดผลกระทบต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด ยังคงเป็นที่ต้องการของทางประเทศโซนยุโรปผู้จริงจังกับเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกใบนี้ และเป็นส่วนสำคัญในการเสริมศักยภาพของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิคที่จะดำเนินการเป็น Functional Food โดยตรง ดังนั้น แนวโน้มเรื่องอาหารที่จะมีการขยายตัวยังคงขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมีแนวโน้มจะเห็นความสำคัญของการบริโภคอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการคิดเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม โดยต้องตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของบุคคล หากเราสามารถสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ทุกอย่างดังกล่าวได้ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยได้ครอบครองพื้นที่ในตลาดโลกได้มากขึ้น โดยอาจจะต้องพัฒนาไปควบคู่กับเรื่องของ Food Security ซึ่งตอนนี้ อาจจะยังไม่สามารถประสบความสำเร็จได้สำหรับกลุ่มตลาดที่ยังไม่มีกำลังซื้อที่มากพอ แต่ก็ไม่อาจที่จะมองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้ไปได้ เพราะอาจจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสามารถในการสร้างแต้มต่อในการตีตลาดโลกได้เช่นกัน


ทั้งนี้ ทางผู้เข้าร่วมงานยังได้มีโอกาสซักถามและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่านอื่น ๆ ซึ่งเป็นคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญของจุฬาฯ และวงการอุตสาหกรรมอาหารในการตอบโจทย์งานที่ตนเองสนใจอยู่ในขณะนี้


#Chula Lunch Talk

#Chula Future Food Platform Lunch Talk

#สำนักบริหารวิจัย

#ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch)

#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Halal Science Center-HSC)


IMAGE GALERY


ศูนย์บริการวิชาการ
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 4 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 0-2218-2880 โทรสาร. 0-2218-2880 ต่อ 701
Email: unisearch@chula.ac.th

Search