
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09:00 น. โครงการประเมินประสิทธิภาพนวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบอัตโนมัติด้วยละอองลอยไฮดรอกซิลเรดิคอล ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานและทุนวิจัยจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS (ทีเซลส์) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้กล่าวรายงานความสำคัญของการดำเนินงานโครงการฯ และการส่งมอบ “นวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบอัตโนมัติ ด้วยละอองลอยไฮดรอกซิลเรดิคอล (Hydroxyl Radical Disinfection Portable System Fumigator for Ambulance)” ให้แก่หน่วยงานนำร่องในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี เทศบาลตำบลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และมูลนิธิร่วมกตัญญู จังหวัดสมุทรปราการ โดยพิธีการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี และร่วมส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าว ร่วมกับ คุณไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) - TCELS และ ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมสัตตบงกช B602 ชั้น 6 อาคารพัฒนาบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อนำนวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคไปติดตั้งใช้งานในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการขยายผลการส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าวให้กับหน่วยงานนำร่องในพื้นที่ภูมิภาคอื่น ๆ ที่เป็นเครือข่ายของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติต่อไป
คุณพรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ นักวิจัยในโครงการฯ ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของ “นวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบอัตโนมัติ ด้วยละอองลอยไฮดรอกซิลเรดิคอล” ซึ่งทางโครงการได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวจากการที่เห็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการทำความสะอาดรถพยาบาลตามมาตรฐานสากล โดยจะต้องใช้เวลา 120 นาที หรือ 2 ชั่วโมง ในการทำความรถพยาบาล 1 คัน และการใช้สารเคมีทำความสะอาดก็มีปริมาณที่สูง ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายประมาณการต่อปี ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท จากปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมา ทำให้คณะวิจัยศึกษาและคิดค้นกระบวนการฆ่าเชื้อโดยใช้อนุมูลอิสระไฮดรอกซิลที่ได้จากกระบวนการ Advanced Oxidation Process โดยใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นสารตั้งต้น ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีการใช้งานในอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย โดยเป็นสารฆ่าเชื้อกลุ่มออกซิเดชันที่มีประสิทธิภาพสูง ทำปฏิกิริยาฆ่าเชื้อได้รวดเร็ว คณะวิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาต่อยอดและสร้างต้นแบบเพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อในระดับห้องปฏิบัติการ รวมทั้ง ได้ดำเนินการทดสอบกับรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่การใช้งานจริงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยทำการทดสอบรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินประเภทชุดปฏิบัติการระดับต้น ด้วยวิธี Surface Swap Test จำนวน 10 จุดทดสอบภายในรถ และการทดสอบในอากาศด้วยวิธี Impaction แล้วพบว่า นวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบอัตโนมัติ ด้วยละอองลอยไฮดรอกซิลเรดิคอล ทำให้เวลาในกระบวนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อลดลงจากเดิม 120 นาทีต่อคัน เหลือเพียง 10 ถึง 15 นาทีต่อคัน โดยใช้สารฆ่าเชื้อต่อครั้งเพียง 25 มิลลิลิตรต่อคัน ส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการฆ่าเชื้อจากคันละ 100 บาท เหลือเพียงคันละ 6 บาท และที่สำคัญสุดคือ สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคลงได้มากกว่าร้อยละ 93.8 รวมถึง การฆ่าเชื้อได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราซึ่งถือว่ากำจัดได้ยากด้วยการใช้ละอองลอย
โดย “นวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบอัตโนมัติ ด้วยละอองลอยไฮดรอกซิลเรดิคอล” ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากการนำเสนอนวัตกรรม “ผลิตภัณฑ์ด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในรถพยาบาลโดยการใช้กระบวนการ Advanced Oxidation Process ในการฆ่าเชื้อโรคทั้งในพื้นผิวและอากาศภายในรถพยาบาล” จากงานแสดงประดิษฐกรรมและนวัตกรรมระดับนานาชาติ International Exhibition of Inventions in the Middle East ซึ่งจัดโดย Kuwait Science Club ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ณ รัฐคูเวต เมื่อวันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา อีกทั้ง นวัตกรรมดังกล่าวได้จดทะเบียนสิทธิบัตรกับทาง CUIP สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และ ศูนย์บริการวิชาการฯ (Chula Unisearch) ได้ร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานวิจัยร่วมกันภายใต้ความร่วมมือเครือข่ายในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับสากลที่ประชาชนเชื่อมั่น และผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียม เจ้าหน้าที่ทำงานภายใต้ความปลอดภัย โดยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเครือข่ายการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง ภายใต้หลักการ #ทุกชีวิตปลอดภัย มั่นใจแพทย์ฉุกเฉิน