เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Developed in conjunction with Joomla extensions.

รอบรั้วโครงการ

“Chula” one of 7 Pavilions Thai-German Conference “Climate Talk”

ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมจัดแสดงผลงานในงานสัมมนา Thai-German Conference “Climate Talk” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดย สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเทพฯ นำโดย คุณโสภณ พิฆเนศวร รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการฯ และคณะทำงานโครงการสร้างเสริมทักษะกลุ่มวิจัยสู่การผลักดันยกระดับเครือข่ายงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ Net Zero Enhancement of Research Groups’ Skillsets for Empowering Net Zero Research Consortium (NZRC Program) ได้นำ 5 กลยุทธ์ต้นแบบเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่การเป็น “มหาวิทยาลัย” ที่มี “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) และการเป็น “มหาวิทยาลัย” ที่ปล่อย “ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ภายใต้โครงการ Chula Race to Zero ร่วมนำเสนอในงานครั้งนื้


โดย 5 กลยุทธ์ ดังกล่าวประกอบด้วย

♠️ กลยุทธ์ที่ 1. Energy Transition - ปรับเปลี่ยนเป็น Zero-carbon Energy System ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน

โดย จุฬาฯ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานแบบเดิม เป็นระบบการใช้พลังงานทดแทนที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV development) ตามที่จุฬาฯ ได้ลงนามข้อตกลงกับการไฟฟ้านครหลวง (MEA) เพื่อดำเนินโครงการนำร่องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารต่าง ๆ (Solar Rooftop) ซึ่งมีแผนจะดำเนินการติดตั้งทั้งหมด 65 อาคารทั่วทั้งมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งและใช้งานแล้วจำนวน 14 อาคาร และคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมดภายในสิ้นปี 2023 (พ.ศ. 2566) นี้ นอกจากนี้ จุฬาฯ จะเน้นให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารสีเขียว โดยจะออกแบบการก่อสร้างอาคารใหม่ให้เหมาะสม เช่น วางผังและทิศทางที่ตั้งของอาคารให้สัมพันธ์กับการรับแดด เน้นการใช้แสงธรรมชาติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า

♠️ กลยุทธ์ที่ 2. Improving the Resilience of Energy System - เพิ่มระบบการกักเก็บพลังงานทดแทน เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน

จุฬาฯ ได้ดำเนินการตรวจอายุการใช้งานและประเมินประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานในอาคารส่วนกลาง เช่น หลอดไฟ และเครื่องปรับอากาศ ทั้งยังมีการปรับปรุงระบบปรับอากาศภายในอาคาร โดยติดตั้งมอนิเตอร์เพื่อตรวจสอบความร้อนภายในระบบ และการใช้ระบบระบายอากาศ ระบบระบายความร้อน ตลอดจนมีการติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารอัจฉริยะ CU BEMs (Building Energy Management) ในอาคารทั่วทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อใช้มอนิเตอร์ ควบคุมและสั่งการการใช้พลังงานในแต่ละอาคารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ลดการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น โดยสามารถตรวจสอบและจำกัดการใช้พลังงานในแต่ละอาคารผ่านเว็บแอปพลิเคชันและ dashboard ที่รายงานข้อมูลการใช้พลังงานสูงสุด (Peak Load) และจำนวนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งระบบนี้ออกแบบโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid Research Unit- SGRU) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว และกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ คุณสราวุธ เมธาวี และคณะทำงานโครงการ Chula Smart Campus ได้นำระบบ Monitor ซึ่งพัฒนาโดยโครงการในการ monitor การใช้พลังงานไฟฟ้าของอาคารภายในจุฬาทั้งหมด รวมทั้ง mobility ร่วมสาธิตการใช้งานให้แก่ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยระบบดังกล่าวจะเป็นการวัดทั้ง energy & environment ซึ่ง data ที่ sensor ตรวจวัดได้ จะมีการเก็บภาพรวมข้อมูลการใช้พลังงานของทุกส่วนโดยแสดงข้อมูลอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์มากที่สุด ไว้โดยที่ผู้ที่สนใจสามารถนำข้อมูลไปจัดการ วิเคราะห์ และนำไปพัฒนาต่อได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

♠️ กลยุทธ์ที่ 3. Creating Green Growth - สนับสนุนการลงทุนสีเขียวและความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไร้คาร์บอน

จุฬาฯ ได้สนับสนุนงานวิจัยและความร่วมมือในระดับประเทศและนานาชาติ รวมไปถึงการลงทุนสีเขียว เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไร้คาร์บอน โดย ศูนย์ Bio-Circular-Green economy Technology & Engineering Center คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจอุตสาหกรรม และองค์กรสาธารณะ จัดตั้งความร่วมมือในนาม Thailand CCUS Consortium เพื่อวางแผน วิจัย พัฒนาการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการนำเอา CO2 ที่เดิมถูกมองว่าเป็นมลพิษ มาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ สร้างมูลค่าทางด้านการพาณิชย์และยังช่วยขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อม

♠️ กลยุทธ์ที่ 4. Lifestyle Transition - เปลี่ยนมาใช้ Low carbon transportation Chula zero-waste & Low carbon Diet

จุฬาฯ ได้รณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรใช้รถโดยสารสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย โดยจุฬาฯ เพิ่มตัวเลือกในการเดินทางที่ปล่อยคาร์บอนน้อย (Low Carbon Transportation) เช่น รถบัสไฟฟ้า จักรยาน รถตุ๊กๆ ไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ทั้งยังมีการปรับปรุงทางเดินมีหลังคา หรือ Cover way เชื่อมต่ออาคารต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาคมจุฬาฯ ในการเดินทาง อีกทั้ง จุฬาฯ ยังได้ดำเนินโครงการ Chula Zero Waste โครงการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ (Zero Waste Management) ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณขยะที่จะไปสู่พื้นที่ฝังกลบ โดยใช้กฎ 3R ได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมจากประชาคมจุฬาฯ ทั้งนิสิต บุคลากร ไปจนถึงผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนหันมาใส่ใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ใส่ใจกับขยะที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกระตุ้น Sustainable Lifestyle เพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

♠️ กลยุทธ์ที่ 5. Social Transition Social Support System - สร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

จุฬาฯ ได้จัดเวทีเสวนา การจัดฝึกอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาวิชาการ โครงการประกวดคลิปสั้น และการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างนิสิตและบุคลากรผ่านช่องทางสื่อออนไลน์โดยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาคมจุฬาฯ เกิดความรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย


โดยทั้ง 5 กลยุทธ์ดังกล่าว เป็นแผนผลักดันให้ประชาคมชาวจุฬาฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อส่วนรวมและร่วมกันลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ตามเจตนารมณ์ที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งไว้ อีกทั้ง ยังมุ่งสร้างให้ประชาคมจุฬาฯ สามารถส่งต่อความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเกี่ยวกับมาตรการด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากตนเองสู่ภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้ ทั้งนี้ จุฬาฯ ยังคงดำเนินการในการบริการวิชาการแก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero Greenhouse Gas Emissions หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ตามที่ได้ประกาศเจตนารมย์ไว้


สำหรับ Pavilions อื่น ๆ ที่เข้าร่วมแสดงผลงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ)” ได้นำผลิตภัณฑ์จาก 'ฟาร์มยั่งยืน’ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวส่วนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีการนำเศษใบไม้ เศษอาหาร มาผลิตปุ๋ย สำหรับใช้ภายในมหาวิทยาลัย จนเกิดผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถบริโภคได้จริง “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)” จัดแสดงพันธุ์ข้าวเพื่ออนาคตรับโลกรวน ข้าวที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอากาศแบบสุดขั้วได้ เช่น ทนร้อน ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนเค็ม ต้านทานโรคและแมลง และมีคุณภาพในการหุงต้มและให้โภชนาการตามความต้องการ ซึ่งพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบแม่นยำในภาคสนามแปลงนา โดยมุ่งเน้นให้เกิดการนำสายพันธุ์ข้าวไปใช้ประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์เท่าทันบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย

นอกจาก 3 มหาวิทยาลัย จุฬาฯ มธ. และมก. หน่วยงานและสถาบันอื่น ๆ ที่ร่วมจัดแสดงผลงาน ประกอบด้วย (1) “Goethe Institute & Embassy” สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ผู้นำด้านภาษาเยอรมัน เปิดหลักสูตรและจัดสอบภาษาเยอรมันในกว่า 90 ประเทศทั่วโลกและส่งเสริมความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม (2) “GIZ” องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย ในการสนับสนุนเป้าหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลกและส่งเสริมด้านการศึกษาทั่วโลก (3) “UN-ESCAP United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific” คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกหรือเอสแคป หนึ่งในห้าคณะกรรมาธิการภูมิภาคภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคและประเด็นเกิดใหม่ที่สำคัญต่อภูมิภาค เช่น การขจัดความยากจน วิกฤตเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน การจัดการกับภัยพิบัติ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ความเท่าเทียมกันทางเพศและการส่งเสริมบทบาทของสตรี ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (4) “German-Thai Railway Association (GTRA)” สมาคมระบบรางไทย – เยอรมนี ให้การแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยั่งยืน

3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย และ4 หน่วยงานความร่วมมือ รวมทั้งสิ้น 7 Pavilions ได้ร่วมกันนำผลการดำเนินงานเกี่ยวกับความยั่งยืนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาร่วมจัดแสดงและให้ความรู้แก่สาธารณะเพื่อสนองต่อเป้าหมายความยั่งยืนและสามารถร่วมกันผลักดันให้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero Greenhouse Gas Emissions สำเร็จลุล่วงร่วมกันคืนสภาพแวดล้อมที่ดีกลับคืนสู่ธรรมชาติ ส่งต่อโลกที่เป็นมิตรอย่างยั่งยืนกับทุกชีวิตให้แก่คนรุ่นต่อไป

IMAGE GALERY


ศูนย์บริการวิชาการ
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 4 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 0-2218-2880 โทรสาร. 0-2218-2880 ต่อ 701
Email: unisearch@chula.ac.th

Search