
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เนกซัส เซอร์เฟส อินโนเวชั่น จํากัด ดำเนินการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการคาร์บอนอย่างยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจ” รุ่นที่ 1 ในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ ห้อง 201 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเนื้อหาหลักสูตร ประกอบด้วย 4 หัวข้อ ดังนี้
• หัวข้อที่ 1 “ผลกระทบของ Climate Change ในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ” โดย ศาสตราจารย์ ดร. อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• หัวข้อที่ 2 “การจัดการคาร์บอน (Carbon Footprint Management)” กรณี ศึกษาการจัดการคาร์บอนในอุตสาหกรรมเคลือบโลหะ โดย คุณพงศกร ขันติชัยมงคล ผู้บริหาร บริษัท เนกซัส เซอร์เฟส อินโนเวชั่น จำกัด
• หัวข้อที่ 3 “หลักการ แนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจก และกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” โดย คุณโสภณ พิฆเนศวร รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• หัวข้อที่ 4 “ผลกระทบทางด้านเศรษฐศาสตร์ของ CBAM ในระดับประเทศ และระดับอุตสาหกรรม” โดย ดร. ชานนท์ ทองไท อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาระของการฝึกอบรมในวันนี้ มุ่งเน้นที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) และผลกระทบเชิงลบที่กำลังเกิดขึ้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ โดยการนำองค์ความรู้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับประสบการณ์จากภาคเอกชน บริษัท เนกซัส เซอร์เฟส อินโนเวชั่น จํากัด มาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดความตระหนักและการรับรู้ถึงความสำคัญในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคสังคมและภาคธุรกิจเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การรับรู้ถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งภาคการศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมความสามารถในการวิเคราะห์แนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจก และการต่อยอดความสามารถในการวางแผนกลยุทธ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึง การส่งเสริมการพัฒนาทักษะและประยุกต์ความรู้ที่เกี่ยวข้องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยการร่วมมือกับภาคสังคมเพื่อวางแผนกับทุกภาคส่วนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างเสริมความยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันของทุกสรรพชีวิตซึ่งต่างอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้
ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. สรันยา เฮงพระพรหม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกายภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณกรองทิพย์ ทิพวัฒน์ เจ้าหน้าที่สำนักงาน ฝ่ายกายภาพ งานบริหารระบบกายภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้เกียรติร่วมถ่ายทอดความรู้และแชร์ประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับกรณีศึกษาการจัดการคาร์บอนในองค์กร ซึ่งคณะแพทยศาสตร์นับว่าเป็นหน่วยงานแรกที่ประสบความสำเร็จในการจัดการคาร์บอนในองค์กรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ผ่านการตรวจรับรองและขึ้นทะเบียน “คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร” (Carbon Footprint of Organization: CFO) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา (พิธีมอบ Certificate ฉลากคาร์บอน ครั้งที่ 5/2566)
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สรันยา ได้ถ่ายทอดถึงวิธีการจัดการคาร์บอนในองค์กร นับตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการค้นหาความรู้ สืบค้นข้อมูล ประสานผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาการจัดการคาร์บอนในองค์กร จัดตั้งทีมงานที่จะร่วมมือกันดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยจัดทำเป็น “โครงการจัดการคาร์บอนในองค์กร” กำหนดวัตถุประสงค์และขอบเขตการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีการวางแผนการทำงานเป็นขั้นตอน ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร รวมถึง สร้างความเข้าใจถึงเป้าหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นดำเนินงานจากคณะทำงานทุกคนและขยายผลสู่ประชาคมในคณะแพทยศาสตร์ เพราะการจัดการคาร์บอนในองค์กรนั้นต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วนจึงจะทำให้การดำเนินการสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งหลังจากที่ได้ดำเนินการศึกษาการจัดการคาร์บอนในองค์กร ทำให้ประชาคมในคณะแพทยศาสตร์เกิดความตระหนักเรื่อง Climate Change และ Health Impact มากขึ้น และเกิดเป็นความร่วมมืออันดีในการร่วมช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนส่งผลให้ทางคณะแพทยศาสตร์สามารถได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สุดท้าย รองศาสตราจารย์ ดร. สรันยา ได้กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการจัดการคาร์บอนในองค์กรที่ทางคณะแพทยศาสตร์ได้ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จภายในคณะฯ และได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้วนั้น ร่วมศึกษาเป็นกรณีศึกษาระหว่างหน่วยงานเพื่อผสมผสานและประยุกต์ความรู้ในมุมมองมิติด้านต่าง ๆ เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาของผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมลดโลกร้อน ขับเคลื่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ร่วมกันต่อไป
IMAGE GALERY
http://www.unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/3984-1-2#sigFreeIdc87cd3b197