เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Developed in conjunction with Joomla extensions.

รอบรั้วโครงการ

งานเสวนา 1st Lunch Talk: Chula Future Food Platform “Funding Opportunities for Future Food Research and Innovations”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (The Halal Science Center-HSC) จัดงานเสวนา 1st Lunch Talk: Chula Future Food Platform “Funding Opportunities for Future Food Research and Innovations” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์ นักวิจัย และประชาคมชาวจุฬาฯ ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารแห่งอนาคตผ่านผู้เชี่ยวชาญในการสร้างโอกาสและการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมอาหารจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับโลก รวมถึงแนวทางบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถการวิจัยร่วมกันเพื่ออาหารแห่งอนาคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.30 – 13.00 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย กล่าวต้อนรับและเปิดการเสวนาฯ และ Mr. Adrian Gutirrez (CDTI, Spain) ที่ปรึกษาด้านการวิจัยและนวัตกรรม Research & Innovation Counsellor, Representative of CDTI | China & Southeast Asia ให้เกียรติร่วมกล่าวเปิดงานในวันนี้ โดยได้กล่าวว่า สถานทูตสเปน และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จะสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศสเปน เพื่อส่งเสริมการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมอาหารตลอดทั้ง Value Chain โดยเฉพาะแนวทางความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยด้าน Functional Food, Agri-food Waste และ Circular Agricultural Waste

นอกจากนี้ ในการเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมอาหารสู่อนาคต จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้เกียรติบรรยายหัวข้อ “A Platform to Create Future Food Entrepreneurs from Local to Global” คุณเมธา จารัตนาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอพี แวลู จำกัด ให้เกียรติบรรยายหัวข้อ “Creating Global Market Opportunity from Collaborative Research for Future Food” และ ดร. อัจฉริยา อักษรอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติบรรยายหัวข้อ “กลไกภายในสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม Future Food”

สำหรับหัวข้อแรก “A Platform to Create Future Food Entrepreneurs from Local to Global” รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมของระบบงานวิจัยด้วยแผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม Innovation Driven Enterprise (IDE) “ทุนสนับสนุนเครือข่ายนวัตกรรม” (Intermediary & Innovation Network) ซึ่งส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ โดยผ่านกลไกการสร้างความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านคนกลาง เช่น การทำงานร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัย โดยมีคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ในการช่วยเสริมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลีดา ได้ฝากสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ คณาจารย์และนักวิจัย ในการนำพาไปสู่ IDE อย่างประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน สิ่งนั้น คือ “Growth Mindset”

สำหรับหัวข้อ “Creating Global Market Opportunity from Collaborative Research for Future Food” โดย คุณเมธา จารัตนาการ ได้นำแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมสู่ธุรกิจระหว่างประเทศผ่าน 3 STAGE สำคัญ of in ซึ่งประกอบด้วย

▪️STAGE 1 investment

▪️STAGE 2 intangible

▪️STAGE 3 income to international

ซึ่งจะช่วยนำพาอุตสาหกรรมอาหารสู่ตลาดนวัตกรรม โดยความร่วมมือในการส่งเสริมองค์ความรู้และเครือข่ายองค์ความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรม (Knowhow & Knowledge) รวมถึง นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา (Innovation and intellectual property) จากมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ผ่าน Branding โดยภาคเอกชน ในการนี้ คุณเมธา ได้ให้ข้อมูลสรุปด้านเทคโนโลยีที่เด่นเกี่ยวกับอาหารจากประสบการณ์ที่ได้ศึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารมากว่า 10 ปี ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่

(1) Food Product & Process

(2) Functional Food

(3) Food Packaging

(4) Kitchen Equipment

(5) Information Technology

และ (6) Microbial & Enzymes

โดยพบว่า เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Functional Food โดยเฉพาะในด้านของ Plant Extract เป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติผ่านกระบวนการสกัดโดยวิธีทางธรรมชาติที่ส่งเสริมการทำงานของร่างกาย ซึ่งส่งผลให้สุขภาพของเราแข็งแรงมากขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เป็นพืชจะมีการให้ความสำคัญกับการเพาะเลี้ยงแบบอินทรีย์ และกระบวนการปรุงอาหารเพื่อให้ได้คุณสมบัติพิเศษตามที่ต้องการ เช่น การออกแบบอาหารเฉพาะบุคคล (Personal Food) การเสริมภูมิคุ้มกัน การบริการปรุงอาหารเฉพาะบุคคลตามข้อมูลสุขภาพและวัย รวมถึง แนวทางการส่งออกที่ประสบความสำเร็จ เทรนด์ตลาดอาหารในอนาคตอันใกล้จะอยู่ที่ใด และการขยายตลาดอาหารของประเทศไทยควรเจาะตลาดที่กลุ่มประเทศใด

หัวข้อสุดท้ายของวันนี้ โดย ดร. อัจฉริยา อักษรอินทร์ ได้สรุปภาพของ “กลไกภายในสำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม Future Food” ด้วยกลยุทธ์ Research & Innovation Focus onwards ผ่าน 4 ชั้นความคิด ดังนี้ ▪️ชั้นที่ 1 - Researchers คือ เรา (นักวิจัย) - เราต้องการทำอะไร?

▪️ชั้นที่ 2 - Collaborators คือ ถ้าเรา (นักวิจัย) ทำแล้ว ใครสามารถช่วยเราได้บ้าง

▪️ชั้นที่ 3 - Beneficiaries คือ โจทย์ที่ทำในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อใคร? และ

▪️ชั้นที่ 4 - Project Sponsors คือ อย่าลืมนึกถึงคนที่ประสงค์จะร่วมเป็นเจ้าของงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะร่วมสร้างประโยชน์และสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมสูงสุดร่วมกัน

ด้วยกลไกภายใน Translational Research Platform ในการบริหารจัดการกลุ่มงานวิจัยในอนาคต เพื่อร่วมนำเสนอทิศทางในการสร้างผลผลิตของกลุ่มวิจัยหรือศูนย์เชี่ยวชาญให้มีเป้าหมายร่วมกันกับแพลตฟอร์ม โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อมุ่งสร้างงานวิจัยที่มีการบูรณาการข้ามศาสตร์เป็นเนื้อเดียวกัน ในการส่งมอบผลลัพธ์เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมในภาพใหญ่ได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ในช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน Q&A มีประเด็นคำถามที่น่าสนใจอย่างมากจากนักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา ประเด็นดังกล่าว คือ “เราจะสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีใดในการที่ช่วยเรื่อง การขาดแคลนอาหาร บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มประเทศ CLMV” ทั้งนี้ ดร. อาณัฐ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมฮาลาล ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (HSC) ได้นำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “การกีดกันทางการค้า” ซึ่งเกิดจากกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งในระดับ Global และตะวันออกกลาง ซึ่งการทำ Policy research จะสามารถช่วยสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. บัญชา พูลโภคา รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร. อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “วิทยาศาสตร์พร้อมสนับสนุนในการ Scale up งานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสู่ Commercial โดยความร่วมมือในทุกภาคส่วน และทางวิศวกรรมศาสตร์พร้อมที่จะเป็น Tools สำหรับทุกศาสตร์ในการบูรณาการร่วมกัน เพื่อร่วมสร้างเส้นทางในการที่งานวิจัยและนวัตกรรมจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาค Commercial ได้” และสุดท้าย ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการฯ ได้ช่วยสรุปภาพรวมของการเสวนาฯ ในวันนี้ ด้วยหวังว่า ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านจะได้รับความรู้และช่องทางเกี่ยวกับทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหาร อีกทั้งยังสามารถที่จะสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและแข็งแรงร่วมกันเพื่อนำพางานวิจัยและนวัตกรรมทางอาหารของประเทศไทยสู่ระดับ Global และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยนำแนวคิด เครื่องมือ และกลไกต่าง ๆ ที่ได้รับการนำเสนอในวันนี้ไปต่อยอดในการพัฒนาและสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารสำหรับอนาคตต่อไป

IMAGE GALERY


ศูนย์บริการวิชาการ
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

254 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 4 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 0-2218-2880 โทรสาร. 0-2218-2880 ต่อ 701
Email: unisearch@chula.ac.th

Search