
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สำนักบริหารวิจัย ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “NET-ZERO ENERGY AND DECARBONIZATION” Chula-NUS Workshop ร่วมกับ National University of Singapore (NUS) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาแนวทางการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดคาร์บอนในประเทศและนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2566 ณ ห้องกมลมาศ ชั้น 6 โรงแรม เดอะ สุโกศล-กรุงเทพ
ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม รวมทั้งกล่าวถึงที่มาและความสำคัญในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ร่วมกับ National University of Singapore พร้อมทั้งได้นำเสนอปณิธานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย 5 กลยุทธ์หลัก โดยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) โดยการวางแผนร่วมกันในทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่จากมุมมองของการวิจัยเท่านั้น แต่เป็นการคิดและวางแผนจากมุมมองที่เป็นไปได้เพื่อสามารถนำมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสามารถนำมาใช้ในการกำหนดทิศทางในอนาคต รวมถึงเป็นความเห็นเพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายต่อไป และสำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้จากสิ่งที่ NUS และสิงคโปร์ต้องเผชิญจากความท้าทายในการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
โดยคณาจารย์และนักวิจัยจาก National University of Singapore (NUS - College of Design and Engineering สาขาความเชี่ยวชาญ Chemical & Biomolecular Engineering) ที่ให้เกียรติบรรยายถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ คือ
1) Professor Praveen Linga ผู้เชี่ยวชาญด้านการดักจับคาร์บอนและการจัดเก็บ (Carbon Capture & Storage (CCS) expert) ให้เกียรติบรรยายเกี่ยวกับ “NUS's Net Zero Implementation Experience” ประสบการณ์ในการถ่ายทอดแผนปฏิบัติการ Net Zero ตามแผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของ NUS (เมื่อปี ค.ศ. 2017-2020) โดยเริ่มจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมของ NUS โดยสรุปสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำ คือ การจัดตั้งคณะทำงาน 5 คณะทำงาน ได้แก่ (1) คณะทำงานด้าน Energy, (2) คณะทำงานด้าน Water Management, (3) คณะทำงานด้าน Waste minimization & recycling, (4) คณะทำงานด้าน Built Environment และ (5) คณะทำงานด้าน Green Space โดยพิจารณาการบูรณาการความร่วมมือข้ามศาสตร์สหสาขาวิชาโดยไม่ได้จำกัดว่าต้องทำงานร่วมกันภายในคณะเท่านั้น สู่ความร่วมมือทั้งมหาวิทยาลัยไปจนถึงสังคมโดยรอบมหาวิทยาลัย
2) Associate Professor Ning Yan ผู้อำนวยการ CHI (Center for Hydrogen Innovation - ศูนย์นวัตกรรมไฮโดรเจน) ให้เกียรติบรรยายเกี่ยวกับ “Hydrogen Research Roadmap and Cooperation Guidelines” แผนงานการวิจัย Flagship Green Energy การวิจัยการลดคาร์บอน เชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์จาก CO2 และ H2O และ CCUS รวมถึงแนวทางความร่วมมือ เพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจไฮโดรเจนของสิงคโปร์ต่อไปในอนาคต
และ 3) Assistant Professor Lei Wang ให้เกียรติบรรยายเกี่ยวกับ “Electrolysis for Future Sustainability” กระแสไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืนในอนาคต วิธีขับเคลื่อนปฏิกิริยาทางอุณหพลศาสตร์โดยปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า สมการดูดความร้อนเพื่อให้ได้ไฮโดรเจนจากน้ำ แล้วแปลง CO2 ให้เป็นเอทิลีนไกลคอล พัฒนาการสร้างแบบจำลองในระดับขนาดเล็ก (นาโน – ไมโครเมตร) ที่พื้นผิว เพื่อผลิตและเก็บรักษาไฮโดรเจนสีเขียว
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับแผนการดำเนินการของ National University of Singapore และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การถอดบทเรียนจากอุปสรรค และสำรวจนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในอนาคตได้
โดยสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการของ Chula-NUS ในครั้งนี้ มอบโอกาสอันดีแก่คณะต่างๆ ในการกำหนดรูปแบบความร่วมมือด้านการวิจัย ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของการวิจัยเทคโนโลยีไฮโดรเจน Electrocatalytic และ CCUS แม้ว่าคณะต่างๆ ยังคงมองเห็นอุปสรรคในวิสัยทัศน์และพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่การประชุมเชิงปฏิบัติการได้กระตุ้นให้เกิดแนวคิดและจะสร้างแรงสั่นสะเทือนในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยต่อไป อีกทั้ง ยังส่งผลให้เกิดแนวทางการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการในหลากหลายประเด็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานเพื่อเชื่อมเครือข่ายด้านวิชาการตลอดจนการการพัฒนาด้าน Co-Research Proposal การพัฒนาสร้างทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการขยายผลสู่นิสิตนักศึกษาของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย (ไทยและสิงคโปร์) ในการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา และงานวิจัย เพื่อส่งเสริมให้บรรลุเป้ายหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างมั่นคงและยั่งยืนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและกระแสเชิงบวกสำหรับสังคมที่ยั่งยืนในกลุ่มประเทศอาเซียน
IMAGE GALERY
http://www.unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/3770-chula-nus-workshop-net-zero-energy-and-decarbonization#sigFreeId7e634d7ff9