
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมหารือความร่วมมือทางวิชาการและแนวทางการทำข้อตกลงสนับสนุนงานวิจัยร่วมกัน ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย นำทีมผู้บริหารงานด้านวิจัยของจุฬาฯ อาจารย์ ดร. ศันธยา กิตติโกวิท ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านนวัตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ ศาสตราจารย์ ดร. ธีรยุทธ วิไลวัลย์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (รับผิดชอบงานด้านวิจัย) ดร. อัจฉริยา อักษรอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารวิจัย รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและนวัตกรรม ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือแนวทางการทำข้อตกลงความร่วมมือ โดยมี คุณโสภณ พิฆเนศวร รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการฯ กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กลุ่มบริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด และนำเสนอภาพรวมงานวิจัยของจุฬาฯ ที่เกี่ยวข้อง และคุณประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด กล่าวแนะนำหน่วยงาน รวมถึงนำเสนอวัตถุประสงค์ ขอบเขตและความต้องการที่จะให้จุฬาฯ สนับสนุนงานด้านบริการวิชาการและงานด้านการวิจัย เมื่อวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 ณ ห้อง 201 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายหน่วยงานของมหาวิทยาลัย เช่น
ผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนายาจุฬาฯ (CU4DR) คณะเภสัชศาสตร์ โดย เภสัชกรหญิง ดร. ทมยันต์ พฤกษะริตานนท์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. บุญศรี องค์พิพัฒนกุล
ผลงานวิจัยในภาพรวมและผลงานวิจัยของคณาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ ในหัวข้อ “Young rice leaf extract: A novel source of dietary flavones / Extract from coffee waste and its application/Natural Pigments from Plants” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ขนิษฐา ธนานุวงศ์ (หัวหน้าภาควิชา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา พ่วงประพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร. จิรารัตน์ อนันตกูล และอาจารย์ ดร. นนทชา ธนธรวรากุล ซึ่งนำเสนอภาพรวมของการสกัดสารพฤกษเคมีจากพืช เช่น สารสกัดฟลาโวนจากใบข้าวอ่อน สารสกัดจากกากกาแฟและการนำไปใช้ สารสีธรรมชาติจากพืช เป็นต้น
ผลงานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ในหัวข้อ “นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล” โดย ดร. พรพิมล มะหะหมัด ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์และทีมวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล
อีกทั้ง ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยของบริษัท startup ของจุฬาฯ ซึ่งรวบรวมเรื่องราวน่าสนใจในการนำงานวิจัยออกจากหิ้งสู่ตลาดสู่สังคม โดยบริษัทที่ร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ได้แก่
บริษัท อินโน ไฟโตเทค จำกัด นำเสนอหัวข้อ “Harvesting a Sustainable Future: A case study towards innovative products from Durian and Mango orchards” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ คุณเกตุธิดา ชีวรุ่งนภากุล CEO บริษัท อินโน ไฟโตเทค จำกัด นำเสนอกรณีศึกษาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสวนทุเรียนและสวนมะม่วง เช่น สารสกัดจากผลทุเรียนอ่อน เป็นต้น
บริษัท นาอีฟ อินโนว่า จำกัด (Naive Innova) นำเสนอหัวข้อ “Packaging an Active Ingredient within Biomaterials to form Nanoparticles” โดย อาจารย์ ดร. ธีรพงศ์ ยะทา หน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ CEO & Co-founder บริษัท นาอีฟ อินโนว่า จำกัด นำเสนอผลงานและยกตัวอย่างการออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น
บริษัท แนบโซลูท จำกัด นำเสนอหัวข้อ “Develops delivery systems for healthcare products using nano-modified biopolymers. “Hy-N Technology”, improves the efficacy and stability of cosmeceutical and pharmaceutical products.” โดย รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. จิตติมา ลัคนากุล ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CTO (Chief Technology Officer) บริษัท แนบโซลูท จำกัด นำเสนอการพัฒนาระบบการจัดส่งผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพโดยใช้โพลิเมอร์ชีวภาพดัดแปลงนาโน “Hy-N Technology” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรของผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเภสัชกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยทางวิดีทัศน์ “นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์เอสเพส (sPace)” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกายอุปกรณ์และสิ่งปลูกฝังทางออร์โธปิดิกส์ (Center of Excellence for Prosthetic and Orthopedic Implant) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ได้รับชมอีกด้วย
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มบริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด และบริษัท startup ของจุฬาฯ ดังกล่าวข้างต้นจะมีความร่วมมืออันดีในการสร้างผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทั้งองค์กรและสังคม ต่อไป
IMAGE GALERY
http://www.unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/3695-2023-08-10-06-50-04#sigFreeIde250e01954