
โครงการพระราม 4 โมเดล (Bangkok Rama 4 Model) จัดงานแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยและพิธีปิดโครงการพระราม 4 โมเดล: “Unlocking Traffic Data for a Better Tomorrow – การปลดล็อคข้อมูลการจราจรเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 ณ โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 เพื่ออธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้และข้อเสนอแนะจากโครงการที่ดำเนินการมากว่า 3 ปี โดยการใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางเพื่อหาแนวทางลดปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมุ่งเน้นที่ถนนพระรามสี่เป็นพื้นที่ทดลองทำการรวบรวมข้อมูล และหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพในการลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการจราจร
ในการนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี ร่วมกับ ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของโครงการและร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มร. ปาซานา คุมาร์ กาเนซ ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิ โตโยต้า โมบิลิตี้ รองศาสตราจารย์ ดร. จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) คุณสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รวมถึง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มร. ปาซานา คุมาร์ กาเนซ ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิ โตโยต้า โมบิลิตี้ ร่วมเป็นผู้แทนส่งมอบอุปกรณ์และเครื่องมือ CCTV AI & Sensors และ War Room Hardware สำหรับการจัดการจราจรกรุงเทพมหานคร โดยมี ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้รับมอบเพื่อใช้ดำเนินการจัดการจราจรเพื่อลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการจราจรต่อไป
ทั้งนี้ โดยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยเฉพาะมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมในการศึกษาและร่วมออกแบบการจัดการจราจรด้วยการนำเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาบริหารจัดการสัญญาณไฟจราจรในแต่ละแยกยุทธศาสตร์บนถนนพระรามสี่ เช่น การนำข้อมูลจากระบบกล้อง CCTV และระบบ GPS ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการ และพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาของถนนพระรามสี่ ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงทดลองด้วยการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลปัญหาเชิงลึกที่เกิดขึ้นในการใช้รถใช้ถนนนับจากอดีตนับตั้งแต่โครงการสาทรโมเดลเมื่อปี 2558-2560 มาจนถึงโครงการพระราม 4 โมเดลในปัจจุบัน รวมไปถึงการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในการวิจัยร่วมกันของทุกภาคฝ่ายมาดำเนินการทดลองในการจัดทำข้อมูลและแผนที่การจัดการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ จนได้เป็นการบริหารจัดการจราจร โดย “กลยุทธ์เห็นช้างทั้งตัว” เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการจราจรอันส่งผลกระทบต่อคุณภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณย่านพระรามสี่อย่างจริงจัง ซึ่งจากการดำเนินการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการนำเทคโนโลยีข้อมูลมาทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และความจริงจังในการพัฒนาระบบข้อมูลจะก่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึง เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด สามารถนำไปขยายผลปฏิบัติใช้ในวงกว้างสำหรับประเทศ และเป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองต่าง ๆ ของโลกต่อไป
โครงการพระราม 4 โมเดลเป็นโครงการที่ขยายผลจากความสำเร็จของโครงการสาทรโมเดล ที่ได้ดำเนินการจัดช่องจราจรพิเศษ จัดการจราจรหน้าโรงเรียน บริหารควบคุมสัญญาณไฟจราจร และมาตรการอื่นๆ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้พัฒนาการบริหารจัดการจราจรที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) พัฒนาและเริ่มใช้ระบบไฟสัญญาณแบบแปรผันตามปริมาณจราจรแบบปรับเปลี่ยนอัตโนมัติ (Adaptive Signal Control) ที่ประมวลรอบไฟสัญญาณแบบอัตโนมัติตามปริมาณรถในแต่ละทิศทาง เพื่อกำหนดไฟเขียว ไฟเหลือง และไฟแดงให้เหมาะสมกับปริมาณจราจรในช่วงนั้น ๆ โดยใช้ CCTV หรือ Radar ตรวจจับยานพาหนะ ในปัจจุบันได้ปรับปรุงให้สามารถรองรับระบบไฟสัญญาณสำหรับคนเดินเท้าในบริเวณทางแยกที่ใช้ระบบไฟสัญญาณแบบแปรผันตามปริมาณจราจรแบบปรับเปลี่ยนอัตโนมัติร่วมด้วย นำร่องติดตั้งระบบตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง (Red Light Violation Camera) นำร่องเทคโนโลยี LiDAR (Light Detection and Ranging) เพื่อใช้คำนวณและติดตามยวดยาน และการตรวจวัดสภาพการจราจรแบบ Real Time เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผล อีกทั้ง ยังมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุ (Highway Traffic Operations Center: HTOC) เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางหลวง โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจร เพื่อใช้ในการวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ รวมถึง การส่งเสริมข้อมูลที่สังเคราะห์สู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายมิติและช่องทาง โดยได้สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง อนึ่ง ในระยะต่อไป กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างการศึกษาแนวคิดต่อยอดการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ร่วมกับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles) สำหรับการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจราจรบริเวณทางแยกและทางสายหลักเพื่อลดระยะเวลาติดขัดให้น้อยลง รวมถึงการส่งเสริมความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยเทคโนโลยี
สำหรับผลการวิจัยที่ได้จากโมเดลพระราม 4 ถูกรวบรวมและจัดพิมพ์ในรูปแบบ e-Book เพื่อแบ่งปันเป็นองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://service.rama4model.in.th/documents/eBook_Rama4Model.pdf
IMAGE GALLERY
http://www.unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/3475-4-bangkok-rama-4-model#sigFreeId210675ad5a