Log in

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

SDG 1

นวัตกรรมสารเสริมในอาหารเพื่อปรับปรุงคุณภาพเนื้อสุกรไทย


การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสารเสริมในอาหารเพื่อปรับปรุงคุณภาพเนื้อสุกรไทยโดยวิจัยและพัฒนาสารเสริมอินทรีย์ควบคู่กับการประยุกต์องค์ความรู้ด้านสรีรวิทยาของการทำงานสารเสริมให้เหมาะสมกับการสร้างกล้ามเนื้อ และ/หรือ ไขมันของสุกรขุนในระยะท้าย โดยมีการเตรียมการเพื่อวางแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปส่วนผสม วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และรูปแบบที่ใช้เสริมอาหารสัตว์ เกิดสารเสริมต้นแบบเพื่อใช้ทดสอบในสุกรที่ฟาร์มเอกชน การเพิ่มการสร้างกล้ามเนื้อเป็นการเตรียมสุกรรุ่น 40-70 กิโลกรัม ให้มีการสร้างกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ในช่วงการขุนระยะท้าย 70-110 กิโลกรัม อัตราการสร้างกล้ามเนื้อจะลดลง แต่อัตราการสร้างไขมันรอบกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อไขมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการใช้สารเสริมที่เปลี่ยนแปลงเมตาบอลิซึมของไขมันเพื่อปรับให้มีการลดลงของไขมันในระดับที่เหมาะสมไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป จากข้อมูล มีสาร 3 ชนิดที่มีผล ได้แก่ แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) บีเทน (Betaine) และแพลนท์สเตอรอล (Plant sterol) ท้ายที่สุด คือ การปรับลักษณะสีของเนื้อแดงให้เหมาะสมโดยใช้แร่ธาตุจำเป็นแบบองค์รวม ทำให้ช่วยเรื่องกระบวนการเมตาบอลิซึมของทั้งโปรตีนและไขมันในช่วงก่อนส่งโรงฆ่าที่น้ำหนักประมาณ 110 กิโลกรัม ผลสรุปจากการค้นหาสารเสริมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ จึงได้สารเสริมในช่วงสุกรขุนระยะแรกที่มีองค์ประกอบคือ แอลคาร์นิทีน บีเทน กวาวเครือขาว ซิลีเนียม (Selenium) คอมไบน์มิเนรอลคีเลต (Combined mineral chelate) และเคลย์ (Clay) ส่วนองค์ประกอบของสารเสริมในช่วงสุกรขุนระยะท้าย ประกอบด้วย เอ็นไซม์ปาเปน (Papain) น้ำมันปาล์มดิบ (Crude palm oil) แอลคาร์นิทีน บีเทน กวาวเครือขาว ซิลีเนียม คอมไบน์มิเนรอลคีเลต และดิน ซึ่งการปรับปรุงคุณภาพซากของสุกรขุนโดยใช้สารอาหารนี้เป็นการแก้ไขปัญหาของภาคอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตเนื้อสุกรคุณภาพได้โดยไม่ต้องใช้สารเสริมในกลุ่มที่ถูกควบคุมจากกรมปศุสัตว์ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เกษตรกร และภาพรวมของการผลิตสุกรไทยให้ได้ตามมาตรฐานโลก สามารถตอบโจทย์การผลิตและการตลาดให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร อีกทั้ง ก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์สารเสริมเพื่อปรับปรุงคุณภาพซากในสุกรขุนต่อไป


หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน : สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

คณะผู้วิจัย : รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. กฤษ อังคนาพร ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง : http://www.journal.unisearch.chula.ac.th/th/issue-reader/85


Chula Unisearch,
Chulalongkorn University

254 Chulalongkorn Research Building, 4th Floor, Phayathai Road, Pathumwan, Bangkok 10330
Tel: 0-2218-2880 Fax: 0-2218-2880 ext. 701
Email: unisearch@chula.ac.th