การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเกษตรกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตรกรรมในหลากหลายแนวทาง
“การพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กของเกษตรกรรายย่อยเพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์” งานวิจัยจากภาควิชาสูติศาสตร์-เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเกษตรกร แกนนำเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ให้มีการทำงานร่วมกัน โดยใช้พื้นที่จังหวัดน่านเป็นต้นแบบ และใช้แพะและแกะซึ่งเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตไว ต้นทุนต่ำ เป็นเครื่องมือในการวิจัย พร้อมทั้งสร้างต้นแบบสำคัญในการเป็นแนวทาง ‘ปศุสัตว์ขยับภูเขา’ ที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและนักวิชาการสามารถร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และชาวบ้านในการสร้างให้เกิดแนวทางดังกล่าวที่นำไปสู่การกระจายและขยายผลไปในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ
ในขณะที่ “การพัฒนาต้นแบบเชิงธุรกิจการเกษตรน้ำนมและผลิตภัณฑ์พรีเมียม จังหวัดสระบุรี” เป็นอีกหนึ่งการศึกษาวิจัยจากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ที่คัดเลือกและสร้างเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการร่วมพัฒนาห่วงโซ่การผลิตโคนมให้ได้มาตรฐานระดับพรีเมียม และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์นมแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาต้นแบบธุรกิจแปรรูปสินค้านมพรีเมียมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม รูปแบบผลิตภัณฑ์ บริการ รูปแบบธุรกิจที่ตรงความต้องการของผู้บริโภค ผ่านการทำวิจัยทางการตลาด การออกแบบการบริการที่สามารถช่วยเพิ่มการกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ พร้อมไปกับการพัฒนาต้นแบบธุรกิจ การแปรรูปสินค้านมพรีเมียมและช่องทางการตลาดที่สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสู่ตลาดผู้บริโภคชุมชนเมือง
งานวิจัยเรื่อง “การผลิตปุ๋ยชีวภาพจากวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลังด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์สูตรผสม” จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นการนำกากมันสำปะหลังและกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการเพาะปลูกพืชและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีในอนาคต โดยการใช้กากมันสำปะหลังและกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียเป็นสารตั้งต้น ซึ่งนอกจากจะสามารถจัดการกับวัสดุเหลือทิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ปุ๋ยชีวภาพยังสามารถช่วยในการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตของพืชได้ นอกจากนี้ ได้มีแผนการคิดค้นสูตรหัวเชื้อที่ใช้สำหรับการผลิตปุ๋ยชีวภาพที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักหัวมันสำปะหลังในอนาคต
นอกจากนี้ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัย “การจัดการขยะอินทรีย์ร่วมกับน้ำเสียอาคารเพื่อการผลิตก๊าซชีวภาพและน้ำปุ๋ยชีวภาพด้วยระบบซีโรเวสท์แบบถังหมักขั้นตอนเดียว ร่วมกับถังปฏิกรณ์ชีวภาพเมมเบรน” เพื่อนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่โดยผลิตเป็นน้ำปุ๋ยชีวภาพสำหรับนำมารดน้ำต้นไม้ในสวนและงานภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งถังหมักขั้นตอนเดียวนั้นเป็นการหมักร่วมของขยะอินทรีย์ ได้แก่ เศษอาหารและตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย โดยการย่อยสลายขยะอินทรีย์มาเป็นน้ำหมักชีวภาพ และก๊าซชีวภาพ ซึ่งน้ำปุ๋ยชีวภาพที่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีคุณภาพน้ำในทุกพารามิเตอร์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำของการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่สำหรับการเกษตร (สำหรับพืชที่ไม่ใช่อาหารและน้ำใช้ในงานภูมิสถาปัตย์) ของ U.S. EPA (2012)
อย่างไรก็ดี การที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อควบคุมวัชพืชในพื้นที่ทำการเกษตร จึงได้มี “การพัฒนาชุดทดสอบสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในน้ำ” จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เพื่อตรวจสอบสารปนเปื้อนพาราควอทและอาทราซีนในแหล่งน้ำด้วยเทคนิคที่ไม่ยุ่งยาก โดยการนำเทคนิคการใช้วัสดุดูดซับ และเปรียบเทียบสีมาประยุกต์ใช้ พัฒนาเป็นชุดตรวจวัดที่ใช้วัสดุคาร์บอนรูพรุนในระดับนาโนเมตรที่สังเคราะห์ได้ควบคู่กับเทคนิคการวิเคราะห์ด้วยสี เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการตรวจวัดและลดปัญหาการตกค้างของสารกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภครวมถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำได้ และจะมีการศึกษาการปรับคุณสมบัติทางเคมีบนพื้นผิวของวัสดุคาร์บอนรูพรุนเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสารเคมีอื่น ๆ
ทั้งนี้ หลากหลายงานศึกษาวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรที่ยั่งยืนและปลอดภัย รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของประเทศไทย
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
http://www.unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/2573-2022-06-01-09-51-42
https://www.chula.ac.th/highlight/86249/
http://www.journal.unisearch.chula.ac.th/th/issue-reader/86
http://www.journal.unisearch.chula.ac.th/th/issue-reader/85